ธุรกิจการบริหารจัดการของเสีย

เป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้นโยบายการบริหาร และจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วแบบครบวงจร (One Stop Service) ทั้งการให้บริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การให้บริการระบบการขนส่ง (Transporter) ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยและปลอดภัย โดยการบริหาร งานด้วยทีมงานมืออาชีพซึ่งมีประสบการณ์อันยาวนาน และจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่อันตราย และสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นอันตราย ด้วยวิธีการฝังกลบ (Landfill) การบำบัดน้ำเสีย (Water Treatment ) การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และการปรับปรุงคุณภาพวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว(Blending) เพื่อเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทน การกำจัดโดยการวิธีการเผา (Incinerator) ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า และให้ความสำคัญกับการกำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน และประเทศ

 

เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุด บริษัท เบตเอต์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ได้มีการพัฒนาและออกแบบหลุมฝังกลบ ภายใต้การยึดหลักมาตรฐานจากประเทศเยอรมัน โดยเป็นไปตามกฎหมายกำหนด แบ่งหลุมฝังกลบออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย(Sanitary landfill) และ หลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย (Secured Landfill) ประกอบด้วย 4 ระบบ (แสดงดังภาพ)

ระบบการปูชั้นปูรองหลุม เริ่มจากการปูพื้นบ่อหรือก้นหลุมด้วยดินเหนียวและแผ่นพลาสติก HDPE ที่มีความหนาแน่นสูง ป้องกันการรั่วซึมของน้ำชะกากไหลปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำใต้ดิน

 

– ก่อนการปูพื้นชั้นถัดมา ด้วยแผ่น Geonet แผ่นพลาสติก HDPE ที่มีลักษณะเป็นตาข่าย ที่ทำหน้าที่ระบายน้ำชะกาก

– ต่อด้วยแผ่น Geotextile ใยสังเคราะห์ที่มีหน้าที่ในการกรองกากอุตสาหกรรม และช่วยให้น้ำชะกากระบายได้ดียิ่งขึ้น

– และปูตามด้วย GCL แผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ ที่มีคุณสมบัติป้องกันการรั่วซึมน้ำชะกาก และดูดซับ ดักจับโลหะหนักได้เป็นอย่างดี /ตามด้วยการปิดทับด้วยดินหนา 60 ซม. ก่อนทำการฝังกลับกากอุตสาหกรรมลงไป

“หลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย” จะปูซ้ำด้วยระบบการปูชั้นกันซึม ตามลำดับเพิ่มอีก 1 ชั้น และก่อนทำการฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย ที่ผ่านการปรับเสถียรลดความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงไป และปิดทับด้วยดินหนา 60 ซม.

  • –  ระบบระบายน้ำชะกาก ที่จะคอยทำหน้าที่รวบรวมน้ำเสียที่เกิดขึ้นไปยังบ่อพัก นำไปสู่ขั้นตอนการบำบัดต่อไป
  • –  ระบบวางท่อระบายก๊าซ เพื่อระบายก๊าซที่เกิดขึ้นภายในหลุมฝังกลบออกสู่ภายนอก ส่วนใหญ่ได้แก่ ก๊าซมีเทน
  • –  ระบบชั้นปิดคลุมหลุม หลังการฝังกลบสิ่งปฏิกูลฯ จนเต็มและทำการปรับระดับเรียบร้อยแล้ว

ระบบให้บริหาร “บำบัดน้ำเสีย” ของบริษัทฯ ประกอบด้วยแบบเคมีและแบบชีวภาพ ที่มีความสามารถในการให้บริการได้ประมาณ 450 ลูกบาศก์เมตร/วัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดอย่างสูงสุด ด้วยระบบ Reverse Osmosis (RO) ซึ่งน้ำเสียที่ได้ผ่านการบำบัดจนได้คุณภาพมาตรฐานแล้ว จะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Reuse) ภายในศูนย์ฯ ทั้งนี้เพื่อการนำทรัพยากรที่เกิดในกระบวนการกลับมาให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด

ระบบการปรับปรุงคุณภาพสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

เป็นระบบการนำสิ่งปฎิกูลฯ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองนโยบายด้านพลังงานทดแทนได้ กล่าวคือ นำสิ่งปฏิกูลฯไปผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือเป็นวัตถุดิบทดแทน ในเตาเผาซีเมนต์ และเตาเผาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเชื้อเพลิงทดแทนจากสิ่งปฎิกุลฯ มาใช้ในเตาเผาอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสร้างขึ้น และให้สิทธิแก่บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) (บริษัทในเครือ เบตเตอร์) เป็นผู้บริหารและประกอบการ เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี สามารถให้บริการเผากำจัดของเสียอันตราย ทั้งที่อยู่ในรูปของแข็ง กากตะกอน (Sludge) ของเหลว ตัวทำละลาย น้ำมัน ก๊าซ และมูลฝอยติดเชื้อตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขได้ถึง 48 ตันต่อวัน หรือ 15,000 ตันต่อปี เราสามารถแบ่งสิ่งปฏิกูลฯ ที่นำมาปรับปรุงได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

• สิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นของแข็ง (Solid Blending) สำหรับการทำเป็นวัตถุดิบทดแทน
• สิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นของเหลว (Liquid Blending) สำหรับการทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

โดยสิ่งปฏิกูลฯ ที่นำมาปรับคุณภาพได้จะต้องถูกทดสอบองค์ประกอบ (Parameter) ด้านค่าพลังงานเพิ่มเติม เช่น จุดวาบไฟ ค่าความร้อน ค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่าความหนืด ฯลฯ เป็นต้น

“เตาเผากำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายแห่งแรก แห่งเดียวในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน” ภายใต้การบริหารจัดการ “ศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม (เตาเผาอุตสาหกรรม) บางปู” ของ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ที่มีความสามารถในการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมอันตรายในรูปของก๊าซ ของเหลว กากตะกอน ของแข็ง และขยะติดเชื้อ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัยด้วยกลไกทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทันสมัยด้วยระบบการเผาไหม้แบบ 2 ห้องเผา เพื่อให้การเผาไหม้ของเสียอันตรายเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

  • – เตาเผาแบบหมุน (Rotary Kiln) ที่สามารถควบคุมการเผาไหม้ ด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 °C โดยคัดแยกเถ้าหนักจากการเผาไหม้ก่อนเข้าสู่การเผาไหม้ในส่วนเผาไหม้ที่ 2
  • – ส่วนเผาไหม้ที่สอง (Secondary Combustion Chamber) เผาทำลายเถ้าหนัก ที่อุณหภูมิ 1,100 1,300 °C เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

   ขั้นตอนการเผาทำลาย

   ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์

เพื่อให้กระบวนการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ เป็นไปอย่างถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นในภายหลัง ดังนั้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล บริษัทฯ จะมีการนำ “สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” ที่มีคุณสมบัติเป็นของแข็งและของเหลว มาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยกระบวนการทางเคมีและกายภาพ เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบต่างๆ และเพื่อนำไปสู่วิธีการในการบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม ภายในห้อง “ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์” ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ถูกต้องแม่นยำ และได้ผลอย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญผ่านการขึ้นทะเบียนบุคลากรห้องปฏิบัติการวิเคราะห์

มาตรฐานการรับรอง “ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์”

  • ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขทะเบียน ร-233
  • ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004
  • ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย ISO/OHSAS 18001 : 2007
  • ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 : 2005 จาก สมอ.

เพราะความมุ่งมั่น และตั้งใจในการดำเนินธุรกิจในการบำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งสิ่งปฎิกูลฯ ที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพสิ่งปฏิกูลฯ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการใช้พลังงานทดแทนให้แก่ประเทศ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีระบบการให้บริการให้คำปรึกษา/แนะนำ ข้อมูลต่างๆ ทั้งทางทฤษฎี และการปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ด้านบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ แก่ลูกค้าที่ใช้บริการมากที่สุด ประกอบด้วย

• วิธีการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ภายในโรงงาน
• การขนส่งและการจัดเก็บ
• การฝังกลบแบบสุขาภิบาล
• การฝังกลบแบบปลอดภัย
• ระบบบำบัดน้ำเสีย
• การนำกลับมาใช้ใหม่
• ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์
• ระบบใบกำกับการขนส่ง
• กิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ